"สภาเอสเอ็มอี"เสนอรัฐจัดสรรวงเงิน Soft Loan กลุ่ม SMEs รักษาการจ้างงาน

สภาเอสเอ็มอีเสนอรัฐจัดสรรวงเงิน Soft Loan 100,000 ล้านบาท ให้กลุ่ม SMEs นอกระบบธนาคาร ที่มีการจ้างงาน ช่วยผู้ประกอบการ 150,000 ราย รักษาการจ้างงาน 1.5 ล้านราย เป็นการเร่งด่วน

นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เสนอแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ไม่ใช่ระบบธนาคารปกติ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ระยะเวลา 10 ปี โดยรัฐเข้ามาช่วยค้ำประกันวงเงินและอุดหนุนค่าดอกเบี้ยบางส่วน เพื่อประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน 

มีแนวโน้มที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นจนรัฐบาลต้องออกประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัด ในพื้นที่สีแดงเข้ม (ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป) และคาดว่าประเทศไทยน่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งเป็นการยากต่อการประคับประคองธุรกิจ SMEs ให้อยู่รอดและรักษาการจ้างงานต่อไป อีกทั้งต้องมีการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่ง SMEs โดยปกติแล้วจะเป็นธุรกิจที่มีเงินทุนไม่มาก (สายป่านสั้น) หากได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ของรัฐก็จะทำให้การประกอบธุรกิจมีปัญหาทันทีหากไม่มีการเตรียมการที่ดีไว้ล่วงหน้า

ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินการธนาคารของรัฐในปัจจุบัน เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านระบบธนาคาร (ระบบปกติในปัจจุบัน) ซึ่งมีผู้เข้าถึงบริการนี้ได้เพียง 468,000 ราย จากจำนวนสถานประกอบการกว่า 3 ล้านราย ทั้งนี้ ข้อมูลการอนุมัติสินเชื่อ Soft Loan ของแบ็งค์ชาติ ที่มีวงเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อออกไปได้ 138,200 ล้านบาท ให้กับผู้ที่ได้รับอนุมัติ 77,787 ราย เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2564) 

ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูของแบ็งค์ชาติ ได้อนุมัติวงเงินไป 72,392 ล้านบาท ให้กับผู้ขอสินเชื่อจำนวน 23,687 ราย ซึ่งหากรวมจำนวนและวงเงินของทั้ง 2 โครงการ พบว่า มีผู้ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อประมาณ 100,000 ราย ด้วยวงเงินสินเชื่อรวม 210,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมากเกือบ 3 ล้านราย



นอกจากนี้สภาเอสเอ็มอี ยังได้นำเสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อทางรัฐบาลด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคาร “100,000 ล้านบาท ถึง SMEs 150,000 ราย รักษาการจ้างงาน 1,500,000 อัตรา” โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังนี้โดยเงื่อนไข

1.รัฐจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ไม่เกินร้อยละ 5) วงเงินโครงการ 100,000 ล้านบาท

2.ระยะเวลาโครงการ 10 ปี

3.รัฐสนับสนุนดอกเบี้ย 50% ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ

4.รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันวงเงินให้ SMEs 100% โดยงดเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ

5.ปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารรัฐ และสถาบันการเงิน เงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ

6.ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อ

คุณสมบัติผู้สมัคร

1.เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีทะเบียนการค้า / บริษัทจำกัด / ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ยังประกอบธุรกิจอยู่  ณ วันที่ยื่นขอ

2.มีการจ้างแรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม (เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาวงเงินสินเชื่อ) โดยจำกัดวงเงินตามปริมาณการจ้างงาน

2.1.วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับ SMEs ที่มีการจ้างแรงงาน 5-10 คน

2.2.วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1,000,000 บาท สำหรับ SMEs ที่มีการจ้างแรงงานมากกว่า 10 คน

3.หากมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน พิจารณาวงเงินเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 2 เท่า

หากรัฐเร่งผลักดันโครงการนี้ออกมา คาดว่าจะมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่า 150,000 ราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 1,500,000 คน (ครอบครัว) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐมีข้อมูลอยู่แล้วในระบบประกันสังคมที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคารปกติได้ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000,000 ล้านบาทต่อปี 


 


ความคิดเห็น