ศูนย์วิจัยธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2564

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ผลจากปัญหาภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าและมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง น้ำตาลทรายดิบ และ ปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ สุกร  กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 2564    โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,419 - 8,465   บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 0.84 เนื่องจากปัจจัยบวกจากการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย  

ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,335 - 10,537 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 2.26 เนื่องจากสต็อกของผู้ประกอบการเริ่มลดลง จึงคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น  มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.98 - 2.02 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.51 - 2.54 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น 



ประกอบกับประเทศจีนยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องจากพื้นที่  ในประเทศประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง จึงมีการนำเข้า  มันสำปะหลังจากไทยทดแทนเพื่อใช้ผลิตเอทานอล  น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 17.67 - 18.19 เซนต์/ปอนด์ (12.79 - 13.17 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.50 - 4.50

เนื่องจากคาดว่าประเทศจีนจะมีการนำเข้าน้ำตาลในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และจากความกังวลเรื่องน้ำค้างแข็งในประเทศบราซิลที่เกิดขึ้นในภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคปลูกอ้อยที่มากที่สุดของประเทศในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้ผลผลิตอ้อยของบราซิลได้รับความเสียหาย  และปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.27 - 6.31 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.12 - 0.87

 เนื่องจากความต้องการน้ำมันปาล์มของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาปาล์มน้ำมันยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ จากปัจจัยกดดันของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง จากการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศสหรัฐอเมริกา

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,166 - 10,288 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.91 - 2.08 เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของไทยลดลง ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลให้สามารถส่งออกข้าวได้เพียงร้อยละ 30 ของปริมาณคำสั่งซื้อเท่านั้น  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.11 - 8.17 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 1.00 

เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว (ประมาณร้อยละ 8.0 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด) ทั้งนี้ ปัญหาฝนตกในหลายพื้นที่อาจเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยวผลผลิต อาจทำให้ผลผลิตออกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีการนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาผลิตอาหารสัตว์เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศมีราคาสูง  



ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 48.00 - 49.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.04 – 2.08 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากสต็อกยางพาราโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัส   โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ยังรุนแรง มีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึง   นักลงทุนในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้า ถึงแม้ราคายางพาราในประเทศจะได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลงก็ตาม  สุกร ราคาอยู่ที่ 70.55 - 71.26 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.34 – 1.33 

เนื่องจากภาครัฐยกระดับมาตรการปิดสถานที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ การงดรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร โรงเรียนและสถาบันศึกษาให้ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง  กุ้งขาว  แวนนาไม ราคาอยู่ที่ 133.69 – 135.32 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 - 1.70 เนื่องจากคาดว่าจะมีการใช้มาตรการ ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม     

ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศลดลง สำหรับการส่งออกกุ้งของไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งจากการขาดแคลนแรงงานและประเทศผู้นำเข้าที่มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพกุ้งของไทย  และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.90 - 95.25 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน     ร้อยละ 0.05 – 0.42 เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อโคในประเทศลดลงจากปัจจัยด้านอาหารตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับปริมาณโคเนื้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการบริโภค






ความคิดเห็น