พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงาน กปร. กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า เป็นต้น
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ รวมถึงพิจารณาโครงการที่หน่วยงานเสนอ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในต้นเดือนกันยายนนี้ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของ 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี และโครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จ.ระยอง ซึ่งแต่ละโครงการมีความพร้อมและตรงตามหลักเกณฑ์ของโครงการสำคัญ รวมทั้งเป็นโครงการที่อยู่ในเป้าหมายที่ช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศในภาพรวมได้อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดดำเนินการตามระเบียบเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ตามแผนที่กำหนด
หากมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นขอให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในกรอบทิศทางเดียวกัน รวมทั้งให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ จะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการน้ำระดับพื้นที่ที่ครอบคลุมการใช้น้ำในทุกมิติ
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันออกแบบและดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 66-71) ความจุ 27.50 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้ 35,000 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นยังสามารถจัดสรรน้ำสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ EEC ด้วย แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่เชื่อมโยงกับอีก 2 อ่างเก็บน้ำในพื้นที่
กนช.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน และอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จึงได้กำชับให้กรมชลประทานเสนอแผนจัดสรรน้ำที่มีความชัดเจนและต้องมีความเชื่อมโยงกับทั้ง 2 อ่างฯ พร้อมเร่งรัดการก่อสร้างระบบชลประทานให้สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ความจุ 99.50 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 66–71) เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานรวมทั้งสิ้น 87,700 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนกว่า 4,116 ครัวเรือน
รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบสำรองสำหรับการอุปโภคและบริโภค การท่องเที่ยว เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ EEC เฉลี่ย 70 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยให้กรมชลประทานเสนอแผนจัดสรรน้ำที่มีความชัดเจนและต้องมีความเชื่อมโยงทั้ง 4 อ่างฯ ในพื้นที่ และให้เร่งรัดการพัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้น้ำมากที่สุด
โครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จ.ระยอง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (ปี 66-68) สามารถสูบผันน้ำจากคลองสะพาน ซึ่งอยู่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำประแสร์กลับมาเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างฯ ได้อีก 50 ล้าน ลบ.ม./ปี สำหรับการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม โดยให้กรมชลประทานคำนวณต้นทุนของน้ำที่สูบขึ้นไปที่อ่างฯ ประแสร์และจัดทำสมดุลน้ำเพื่อให้ทราบเงื่อนไขกรณีที่ไม่สามารถสูบน้ำได้ตามแผน เพื่อสร้างความมั่งคงทางด้านน้ำที่จะรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ได้อย่างยั่งยืน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของเกณฑ์การปรับปรุงเป้าหมายการขับเคลื่อนโครงการสำคัญในปี 2565 – 2567 ทั้งนี้ ภาพรวมของโครงการสำคัญที่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 66 จำนวนทั้งสิ้น 526 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการขับเคลื่อนไปแล้ว 128 โครงการ แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจำนวนมากที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ขาดจุดมุ่งเน้นและประเด็นเป้าหมายที่เป็นภาพเดียวกัน สทนช.จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้านแผนงานและงบประมาณให้สามารถขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ตามเป้าหมาย
โดยการจัดรูปแบบโครงการใหม่ด้วย “กลุ่มโครงการ” เป็นหมวดหมู่ 3 ลักษณะสอดคล้องกับการดำเนินการด้านงบประมาณ ได้แก่ 1.เชิงภารกิจของหน่วยงาน (Function) เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และเป็นโครงการหรือแผนหลักในการบูรณาการที่มีหลายหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่เดียวกัน 2.เชิงนโยบาย (Agenda) ได้แก่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้รับการยืนยันจาก กปร.แล้ว และโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่ กนช.เห็นชอบแล้ว
โดยมาจาก ครม.สัญจรหรือการตรวจราชการ และโครงการในพื้นที่ที่รัฐบาลหรือ กนช.เห็นชอบให้เป็นพื้นที่สำคัญหรือโครงการที่แก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤตที่อยู่ในแผนหลักที่ กนช.เห็นชอบ และ 3.เชิงพื้นที่ (Area) เป็นโครงการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่เป้าหมาย (Area Based) และพื้นที่สำคัญที่รัฐบาลและ กนช. ได้เห็นชอบ รวมทั้งที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญต่างๆ
อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 151 โครงการ และโครงการจัดหาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร รอบสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถรองรับน้ำได้เพิ่มขึ้น 12.1916 ล้าน ลบ.ม.
“พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณได้ให้ความสำคัญในกระบวนการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในระดับพื้นที่ในทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง โดยได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานใช้กลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมทั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ในการเร่งประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพปัญหา ความต้องการใช้น้ำ และแนวทางจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดตามบริบทของพื้นที่ ช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และทำให้โครงการต่างๆ เดินหน้าต่อไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น