นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า อิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น อีกทั้งพายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” (CONSON) บริเวณทะเลจีนใต้ ที่คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง บริเวณตอนเหนือของเมืองดานัง ในช่วงวันที่ 12 – 13 กันยายน 2564 ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง นั้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก(ONE MAP) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ในช่วงวันที่ 12-16 กันยายน 2564 จะมีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำหลาก และดินถล่ม บริเวณภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี ภาคตะวันตก ที่จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ ที่จังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต และกระบี่ โดยมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำมูลบน อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณลำน้ำสายหลัก เข้าท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
ทั้งนี้กรมชลประทาน ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ พร้อมทั้งให้ทำการแจ้งเตือนก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ ให้ได้มากที่สุด
รวมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบคโฮ เข้าประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า จากปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นใน จ.สุโขทัย และ ไนจังหวัดพิษณุโลก กรมชลประทาน ใช้แผนบริหารจัดการน้ำ โดยผันน้ำแม่น้ำยมบางส่วนจากสุโขทัย เข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่าลงพื้นที่หน่วงน้ำ ทุ่งบางระกำโมเดล และผันออกทางคลองผันน้ำยมน่าน ไปลงแม่น้ำน่าน ที่ ต.คอรุม อ. พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เพื่อพร่องน้ำในแม่น้ำยม
ในส่วนการระบายน้ำของเขื่อนหลัก ได้ปิดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ ลดการระบายเหลือวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเก็บกักน้ำ ลดผลกระทบท้ายเขื่อน เพื่อให้แม่น้ำน่านสามารถรองรับน้ำจากแม่น้ำยม และแม่น้ำวังทอง ได้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมรับมือเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไปยังที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสียหาย
เนื่องจากมีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นและอาจเกิดน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 12-15 ก.ย.64 โดยเฉพาะพื้นที่ อ.วังทอง และ อ.เนินมะปราง ส่วนอำเภอชาติตระการ นครไทย ได้ใช้มิสเตอร์เตือนภัย คอยเฝ้าระวัง ดินไหล โคลนถล่ม จากฝนตกสะสมอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น