"มนัญญา"จับมือปปง.-ดีเอสไอจัดการสินทรัพย์ถูกอายัดช่วยสหกรณ์รถไฟ

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือสรุปผลการดำเนินการของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรณี สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า จากกรณีปัญหาทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ) ที่อดีตกรรมการสหกรณ์กับพวกร่วมกันทุจริตนำเงินของสหกรณ์ไปซื้อที่ดินและทรัพย์สิน และโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของอดีตกรรมการสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2559 สร้างความเสียหายประมาณ 2,279 ล้านบาท และได้มีการดำเนินการติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าว จึงหารือร่วมกับ 3 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันในการติดตามการดำเนินคดีดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างโปร่งใส เป็นธรรม 



เบื้องต้นมีแนวทางในการนำทรัพย์สินสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ.) ที่อยู่ระหว่างการยึดอายัดไว้ตามกฎหมายปปง.มาบริหารเพื่อให้มีรายได้คืนกลับไปยังสหกรณ์ผู้เป็นเจ้าหนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดหนี้และะเสริมสภาพคล่องสหกรณ์นั้น ๆ แทนการปล่อยให้ทิ้งร้างหรือเสื่อมโทรม.โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดำเนินการให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำซ้อน เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด 

ปปง.ยืนยันว่าตามกฎหมายสหกรณ์สามารถทำได้ แต่ขอเวลา 15 วันเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม และจะนำเรื่องเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ ให้รับทราบต่อไป ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้าไปตรวจ ติดตามอย่างใกล้ชิดและรายงานให้คนทราบต่อไป

สำหรับคดีสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ มีการอายัดทั้งที่ดิน อาคารชุด และอื่น ๆ มูลค่าเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาท หากแนวทางนี้สำเร็จ ปปง.สามารถดำเนินการได้ ก็จะมีรายได้คืนกลับไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดเวลาและลดภาระดอกเบี้ยของสหกรณ์ลูกหนี้จนกว่าระยะเวลาคดีสิ้นสุด คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ขณะที่สหกรณ์ลูกหนี้เช่นสอ.สรฟ.ก็จะมีสภาพคล่องในการบริการสมาชิกเพิ่มขึ้นจากภาระการชดใช้หนี้ที่ลดลง 



สำหรับสอ.สรฟ.มีหนี้ประมาณ 2,272 ล้านบาท ใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ 13 รายแล้วร้อยกว่าล้าน เหลืออีก 2 พันกว่าล้าน ซึ่งการชำระหนี้เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ระหว่างสหกรณ์เจ้าหนี้และสอ.สรฟ. นอกจากนั้นจะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ไปเจรจากับสหกรณ์เจ้าหนี้เพื่อลดดอกเบี้ยให้เหลือประมาณ2%  พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง 2 -3 สหกรณ์ ทุก2 เดือนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทุจริตหรือยักยอกทรัพย์ด้วย

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับสอ.สรฟ.นั่นหลังมีการยึดอายัดทรัพย์ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้สอบสวนพบพฤติกรรมผู้ร่วมกระทำผิดกับอดีตกรรมการสหกรณ์ที่ได้มีการยื่นฟ้องก่อนหน้า9 คน เป็น 15 คน เนื่องจากพบการโอนเงินเชื่อมโยงกัน และเพื่อป้องกันระบบสหกรณ์ทั้งหมดไม่ให้ซ้ำรอยสอ.สรฟ. กรมได้ร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ที่ต้องเฝ้าระวังให้ถี่ขึ้นโดยไม่รอรอบบัญชี ปัจจุบันได้มีการดำเนินคดีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์  1-2 แห่ง สหกรณ์การเกษตร 3-4   แห่งด้วย







ความคิดเห็น