"เกริก"ประชุมนานาชาติด้านจีนศึกษาสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่

"เกริก"จับมือมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยและจีน จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านจีนศึกษา รูปแบบออนไลน์ หวังสร้างนักวิจัยคนรุ่นใหม่รู้เท่าทันโลก สร้างเสถียรภาพด้านการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม

ศ.ดร.นพ.กระแส  ชนะวงศ์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านจีนศึกษา ครั้งที่ 3 ประจำปี 2564 ภายใต้หัวข้อ “จีนศึกษาภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่” ในรูปแบบออนไลน์ ณ ศูนย์ประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก โดยมีคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมในพิธีดังกล่าว



ศ.ดร.นพ.กระแส  เปิดเผยว่า การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านจีนศึกษา เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกริกและมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและจีน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมมือกันทางด้านวิชาการขององค์กรทางการศึกษา รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญได้นำเสนอเผยแพร่ผลงานที่มีคุณภาพ ผลักดันด้านการเรียนการสอนภาษาจีนและงานวิจัยด้านจีนศึกษาในประเทศไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น นักวิชาการได้เปิดวิสัยทัศน์ด้านจีนศึกษาให้กว้างไกล สามารถนำไปสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีความทันสมัย มีมาตรฐานสอดคล้องกับโลกยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี



ทั้งนี้ การจัดงานประชุมนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “จีนศึกษาภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่” มีการแบ่งหัวข้อย่อยออกเป็น ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน ด้านการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ และด้านการแปลจีน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นวิทยากรหลัก และนักวิจัยรับเชิญมาร่วมบรรยายในแต่ละด้าน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยแต่ละสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนนักศึกษาได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยด้วย



“การประชุมวิชาการนานาชาติด้านจีนศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เนื่องจากภาษาจีนและวัฒนธรรมจีน กำลังได้รับความสนใจในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเชื่อมั่นว่าการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การส่งเสริมการศึกษาระดับต่างๆ ให้มีคุณภาพและก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทั้งในแง่ภาษาวัฒนธรรมและคุณธรรม และส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประเทศ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน 5 ด้าน ประกอบด้วย  Information Technology เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ,Innovation นวัตกรรม , Integration การบูรณาการ ,Integrity ความซื่อสัตย์ และ Internationalization ความเป็นสากล”ศ.ดร.นพ.กระแส กล่าว







ความคิดเห็น