นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ล่าสุดกรมประมงประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการและการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันผลกระทบจากการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act, MMPA) ของสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตามก่อนกน้านี้สหรัฐอเมริกาได้ประกาศข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) เพื่อประเมินกฎระเบียบข้อบังคับการทำประมง และการทำประมงเชิงพาณิชย์ของประเทศที่ส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐอเมริกา ว่ามีการลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บรุนแรงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมา วาฬ พะยูน ฯลฯ
สหรัฐอเมริกาได้ประกาศเริ่มใช้กฎหมาย MMPA เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 และกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี เพื่อให้ประเทศคู่ค้าได้มีการเตรียมความพร้อม ในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยในช่วงระหว่างการผ่อนผันนี้ ประเทศไทยยังคงส่งสินค้าประมงไปจำหน่ายได้
เพื่อสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 ร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย กรมประมง จึงได้เชิญผู้ประกอบการ จาก 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป มาหารือถึงแนวทางการการดำเนินการ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
โดยกรมประมง ได้ชี้แจงถึงการดำเนินการ คือ 1) มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน เพื่อเตรียมการและแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ 2) มีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 และ 3) โครงการเร่งด่วนเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2565 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบในหลักการของแผนฯและโครงการเร่งด่วนแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
ประเทศไทยได้มีการจัดส่งข้อมูล ในระบบการรายงานอิเล็กทรอนิกส์ (International Affairs Information Capture and Reporting System : IAICRS) ไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ภายในระยะเวลาที่ขสหรัฐฯ กำหนด ซึ่งสหรัฐฯ นำข้อมูลการทำประมงที่จับสัตว์น้ำในประเทศไปพิจารณาเปรียบเทียบมาตรฐาน (Comparability finding) และประกาศผลประมาณเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยสำหรับเรื่องนี้ในระดับนโยบายได้ให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินการเป็นระยะ
โดยหลังการประชุมหารือดังกล่าว ผู้ประกอบการมีความเข้าใจและพร้อมที่จะปฏิบัติตามกระบวนการของทางภาครัฐ ซึ่งได้มีการไปเจรจาหารือกับประเทศคู่ค้าที่ไทยมีการนำเข้าผลผลิตมาแปรรูปเพื่อส่งออกให้ได้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติ MMPA ด้วย สำหรับสัตว์น้ำที่จับจากท้องทะเลไทย ทางผู้ประกอบการได้มีการสร้างความเข้าใจพร้อมวางระบบการบริหารจัดการเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับให้ทราบถึงแหล่งที่มาด้วย ซึ่งการดำเนินการดังที่กล่าวเป็นการแสดงถึงเจตจำนงค์ของประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น