เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คาดการณ์ว่าราคาหมูของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน นี้ เนื่องจากสต๊อกที่รัฐบาลคำนวณไว้ว่ามีอีก 25 ล้านกิโลกรัม จะประคองการบริโภคในประเทศที่มีประมาณวันละ 3.5 ล้านกิโลกรัม ได้อีกไม่นาน ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูร้อน หมูโตช้า ผลผลิตหมูขุนที่เหลืออยู่อาจจะไม่ได้ตามที่คาดไว้
ขณะที่ผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กยังไม่มั่นใจนำหมูเข้าเลี้ยงรอบใหม่จากปัจจัยหลายด้านทั้งเงินทุน และความเสี่ยงในการระบาดของโรค ทำให้ผลผลิตที่คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติภายในปีนี้ อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประเมินไว้ ผลักดันให้การนำเข้าหมู “ผุด” ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงฯ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ย้ำโดยตลอดว่าไม่มีนโยบายนำเข้า ยังหันมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่าหากขาดแคลนจริงคงต้องพิจารณานำเข้า
ก่อนหน้านี้ มีกลุ่มเอกชนผู้นำเข้าทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอนำเข้าเนื้อหมูจากสเปน เพื่อแลกกับการส่งออกเนื้อไก่ไทยไปสหภาพยุโรป (อียู) โดยกรมปศุสัตว์ ยกระเบียบกระทรวงฯ เกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศจะต้องมีการตรวจสอบโรงงานอย่างละเอียดตามมาตรฐานการนำเข้าซากสัตว์และมาตรฐานสุขอนามัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องปราศจากสารเร่งเนื้อแดง อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบโรงงานแปรรูปสุกรในประเทศสเปนในเดือนกุมภาพันธ์นี้
สเปน เคยประสบปัญหาโรคระบาด ASF ไม่ต่างกับประเทศไทย และสามารถฟื้นฟูการเลี้ยงในประเทศอย่างเป็นระบบและเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกแถวหน้าของอียู ในปัจจุบัน แต่สเปนไม่ใช่ผู้นำเข้าไก่ไทยรายใหญ่ของอียู ประกอบกับการนำเข้าไก่ของอียู ยังมีโควต้านำเข้าเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทส ดังนั้นหากต้องนำเข้าหมูจากสมาชิกอียู ต้องพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าการค้าอย่างเหมาะสม เพราะเราไม่ควรนำเรื่องการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) มาเป็น “ทางแลก” ส่งไก่ไป ได้หมูมา ในช่วงวิกฤติหมูขาด-หมูแพง ของไทย
นอกจากนี้ การนำเข้าเนื้อหมูในช่วงที่ราคาในประเทศอยู่ในช่วงขาลงไม่ว่าจากสเปนหรือประเทศใดก็ตาม เป็นการปิด “ทางรอด”ของเกษตรกรไทย เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนเพื่อเลี้ยงหมูรอบใหม่ของผู้เลี้ยงโดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็ก เพราะหมูนำเข้าจะมีราคาต่ำกว่าหมูในประเทศ เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศผู้ผลิตต้นทางไม่ต้องการและขายในราคาต่ำกว่าทุนได้ ขณะที่หมูในประเทศไทยยังถูกคุมราคาตามมาตรการของรัฐไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย ต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ต้นทุนพลังงาน และต้นทุนจากปัจจัยการผลิตในการป้องกันโรค การผลิตหมูรอบใหม่จึงมีความเสี่ยงต่อการควบคุมราคาแทนการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด จึงเป็นเหตุผลของเกษตรกรไม่กล้าเลี้ยงหมูรอบใหม่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และเป็นเป้าหมายของรัฐบาลในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร และเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
จากการดำเนินงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาหมูขาด-หมูแพง โดยเฉพาะการตรวจสอบสต๊อกหมูอย่างเข้มข้น ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มขณะนี้ปรับลงเหลือ 94-97 บาท/กก. (ขณะที่ราคาขายจริงอยุ่ที่ 82-92 บาทต่อ กก.) ราคาเฉลี่ยถึงผู้บริโภคอยู่ที่ 160-180 บาท/กก. จากสต๊อกหมูในห้องเย็นที่ถูกระบายออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการบริโภคลดลงไป 50% ทำให้ราคาอ่อนตัวลงมาโดยตลอด
ก่อนหน้านี้ นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า สต๊อกหมูของไทยที่ภาครัฐคาดว่ามีอยู่ 25 ล้านกิโลกรัม จะรองรับการบริโภคในประเทศที่มีความต้องการวันละ 3.5 ล้านกิโลกรัม ได้อีกไม่นานเมื่อสต๊อกหมดลงราคาและการผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ราคาจะเพิ่มขึ้นตามกลไกการตลาด และตั้งข้อสังเกตุว่า ASF ทำให้แม่พันธุ์สุกรและหมูขุนในระบบการเลี้ยงหายไปกว่า 50% ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง น่าจะเป็นเกมของพ่อค้าคนกลางกดราคา
ภาครัฐจึงควรเร่งสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรไทยมีกำลังใจในการนำหมูรอบใหม่เข้าเลี้ยง การให้ความรู้ทางวิชาการเพื่อการป้องกันโรคอย่างยั่งยืนในระบบฟาร์มมาตรฐาน และเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ ใช้กลไกการตลาดแทนมาตรการควบคุมราคา เพื่อให้เกษตรกรไทยเห็นอนาคตของตัวเองชัดเจนขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนว่า “ทางแลก” นำเข้าหมูเพื่อการส่งออกเนื้อไก่ไทย จะเป็น “ทางรอด” ของเกษตรกรไทยและสมดุลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริงและยั่งยืน
อัปสร พรสวรรค์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น