เครือซีพี-ซีพีเอฟ ผนึกพลังเพิ่มพื้นที่สีเขียว

เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าใน "โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" จ.ลพบุรี โชว์ความสำเร็จเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย 6,971 ไร่ เป็นต้นแบบการฟื้นฟูผืนป่า สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ  ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  สร้างงาน สร้างอาชีพ สู่ชุมชน พร้อมกันนี้ ร่วมปลูกต้นจำปาป่า และปล่อยปลา 1 แสนตัว มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร

นายสุภกิต เจียรวนนท์  ประธานกรรมการเครือซีพี- ซีพีเอฟ ลงพื้นที่โครงการ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี  โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ที่เกิดจากความร่วมมือ 3  ประสาน คือ กรมป่าไม้  ชุมชนรอบเขาพระยาเดินธง  และซีพีเอฟ  เป็นต้นแบบการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้  



โดยมีผู้บริหารระดับสูงของซีพีเอฟ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงเครือซีพีและบริษัทในเครือ  อาทิ  นายอดิเรก ศรีประทักษ์  ประธานคณะกรรมการบริหาร นายพงษ์  วิเศษไพฑูรย์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร นายประสิทธิ์  บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร  ซีพีเอฟ  และยังได้รับเกียรติจาก มล.อนุพร เกษมสันต์  รองกงสุลกิตติมศักดิ์รัสเซีย นายศิริชัย มาโนช ที่ปรึกษาอาวุโส เครือซีพี ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมี นายสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี  นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง ชุมชน และคณะทำงานยุทธศาสตร์ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ให้การต้อนรับ 

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง  เป็นความภูมิใจและเป็นความมุ่งมั่นของเครือซีพี และซีพีเอฟ ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า ซึ่งในวันนี้ท่านประธานกรรมการ สุภกิต เจียรนนท์ และคณะผู้บริหารได้มาติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูป่าจากที่ดำเนินการในระยะแรก (2559-2563)  5,971 ไร่ ช่วยพลิกฟื้นสภาพป่าที่มีสภาพรกร้างสู่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และในระยะที่สอง (2564-2568) ซีพีเอฟมีแผนที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพิ่มเติมอีก 1,000 ไร่ นอกจากนั้นในทุกๆ ปีจะมีการติดตามดูแลผืนป่าแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และยังเชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้ง เป็นต้นแบบที่กรมป่าไม้จะนำมาใช้พัฒนาผืนป่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามาศึกษารูปแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า



“สิ่งที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถทำให้บริษัท สังคม สิ่งแวดล้อม เติบโตอย่างสอดคล้องไปด้วยกัน โครงการนี้ เป็นความตั้งใจของเครือซีพีและซีพีเอฟที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศ” นายประสิทธิ์กล่าว 

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ซีพีเอฟได้รับความอนุเคราะห์จากที่ปรึกษาอาวุโส เครือซีพี มอบต้นจำปาป่า 1,000 ต้น ซึ่งจะนำมาปลูกเพิ่มเติมในพื้นที่ของโครงการฯ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมปล่อยปลา 1 แสนตัวเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชนที่อยู่รอบข้าง

เยี่ยมชมพื้นที่โครงการ ฯ  โรงเพาะชำกล้าไม้  แหล่งรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าในโครงการฯ นำมาเพาะอนุบาลให้เป็นกล้าที่แข็งแรง  ซี่งซีพีเอฟมีการจ้างงานชุมชนในการติดตามดูแลต้นไม้ในพื้นที่โครงการ เพาะกล้าไม้ กำจัดวัชพืช ฯลฯ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพสู่ชุมชน  ชมแปลงปลูกป่าพิถีพิถัน ซึ่งปลูกในปี 2560 และเตรียมขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.                 

นายสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี กล่าวว่า ซีพีเอฟเข้ามาช่วยฟื้นฟูผืนป่าเขาพระยาเดินธงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ากลับคืนมา มีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีแหล่งอาหาร สามารถเป็นต้นแบบอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในหลายพื้นที่ จากการที่ซีพีเอฟได้นำรูปแบบต่างๆ มาใช้ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับนักวิชาการเข้ามาช่วยจนได้ผืนป่ากลับคืนมา ซึ่งกรมป่าไม้จะใช้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูป่า ขอขอบคุณ ซีพีเอฟ ที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของกรมป่าไม้สู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 



ซีพีเอฟดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ  ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” มาตั้งแต่ปี 2559 โดยผลสำเร็จจากการดำเนินการระยะที่หนึ่ง (ปี 2559 -2563) ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ารวม 5,971 ไร่  ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ  ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการฯ ระยะที่สอง (ปี  2564 -2568 ) เพิ่มเติมอีก1,000 ไร่  รวมเป็น 6,971 ไร่  

รวมทั้งต่อยอดจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า  สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน  ส่งเสริมชุมชนปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเอง รวมถึงนำไปจำหน่ายในตลาดของชุมชน และยังได้สนับสนุนชุมชนทำโครงการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาอีกด้วย ทำให้หลายครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น และสร้างอาชีพเสริม อาทิ นำปลามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาส้ม ปลาร้า เพื่อจำหน่าย เป็นต้น สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) และมุ่งสู่การเป็นองค์กรลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) 

เครือซีพีและซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน  และในโอกาสที่เครือซีพีก้าวสู่การดำเนินงานครบรอบ 100 ปี  มุ่งมั่นทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตามปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือ คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์ต่อบริษัท







ความคิดเห็น