“ไทย-ฮังการี” ผสานความร่วมมือแก้วิกฤติด้านน้ำในทุกมิติ ตามกรอบ MOU ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมลงพื้นที่ จ.ราชบุรี มอบเครื่องกรองน้ำให้โรงเรียนชุมชนวัดรางบัว เพื่อนักเรียนและคนในชุมชนได้เข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด สอดรับแผนแม่บทฯน้ำ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค
ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างกันในหลายมิติ อาทิ การแลกเปลี่ยนความรู้ แนวปฏิบัติที่ดี นวัตกรรม และเทคโนโลยีในการจัดการน้ำเสีย พร้อมแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ในการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ล่าสุด ประเทศไทยโดย สทนช.เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างไทย-ฮังการี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไขแผนการดำเนินงานระยะ 3 ปี ของไทย-ฮังการี และหารือแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสองประเทศในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำระหว่างประเทศเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำดานูบ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และแลกเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมลงนามรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานร่วม ครั้งที่ 2 เพื่อผลักดันสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมต่อไปด้วยเช่นกัน
การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานด้านน้ำของประเทศไทยและฮังการี ซึ่งปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยพิธีส่ง–รับมอบเครื่องกรองน้ำให้กับโรงเรียนชุมชนวัดรางบัว (แหลมราษฎร์บำรุง) ในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างทั้งสองประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของการร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำโดยเฉพาะคุณภาพน้ำ ซึ่งเป็นบริบทหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้นักเรียนและคนในชุมชนได้เข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย ถือเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาสุขภาพ ที่สอดรับการดำเนินงาน
ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อให้ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ได้เข้าถึงน้ำสะอาด มีน้ำอุปโภคบริโภคใช้อย่างเพียงพออย่างยั่งยืน.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น