สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ยืนยัน อุตสาหกรรมเนื้อหมูของประเทศไทย ได้มาตรฐานสากลภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ ทั้งห่วงโซ่การผลิกถึงแหล่งที่มาการผลิต ย้ำผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” รวมถึงสถานที่จัดจำหน่ายและปรุงสุกเพื่อความปลอดภัย
ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวว่า จากภาพติ๊กต่อกฝูงหนูรุมแทะกินเนื้อหมูที่เขียงในตลาดแห่งหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการบริโภคเนื้อหมู นั้น สมาคมฯ ยืนยันว่า อุตสาหกรรมหมูไทยปฏิบัติตามมาตรฐานฟาร์มที่ดีตามข้อบังคับของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อการยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อสุกรตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ ฟาร์มหมู โรงเชือด ตัวแทนจำหน่าย และร้านค้า สร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภค
โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐาน “สถานที่จำหน่าย” ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่เนื้อสัตว์ถึงมือผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ได้จัดสายตรวจลงพื้นที่ตลาดสดหลายในเขตเมืองใหญ่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การจำหน่ายเนื้อสัตว์ถูกสุขลักษณะอนามัย สะอาดและปลอดภัย และได้มีการปรับปรุงให้ถูกต้องตามข้อกำหนด เช่น ที่วางเนื้อหมูมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกวา 60 เซนติเมตร มีตู้เก็บที่ป้องกันการปนเปื้อนและไม่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์พาหะ
นอกจากนี้ จุดจำหน่ายต้องมี “ตู้แช่เย็น” สำหรับเก็บสินค้าที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นวิธีการรักษาคุณภาพเนื้อสัตว์ได้ตามมาตรฐาน ลดการเกิดจุลินทรีย์และเอ็นไซม์ในเนื้อสัตว์ไม่ให้เกิดการเน่าเสียระหว่างรอจำหน่าย ช่วยยืดอายุการจัดเก็บให้นานขึ้น ที่สำคัญสามารถป้องกันหนูและแมลงไม่ให้เข้าไปปนเปื้อนได้
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งการจัดทำมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงหมูของกรมปศุสัตว์ การปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนรณรงค์ให้เขียงหมูให้ความสำคัญกับความสะอาดภายใต้ข้อกำหนด “ปศุสัตว์ OK” ทั้งในตลาดสดและร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันตลาดสดมีการปรับปรุงมาตรฐานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ กล่าว
ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ กล่าวต่อว่า กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมหมูของไทยมีมาตรฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดควบคุม เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (Good Agricultural Practices : GAP) ส่วนโรงฆ่าสัตว์ต้องได้รับการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ (Good Manufacturing Practice : GMP) จนถึงโรงงานแปรรูปก็ต้องปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Hygienic Practice : GHP) และการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point : HACCP) ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ผลิตภายใต้มาตรฐานดังกล่าวนี้ มีความสะอาด ปลอดภัย ปลอดสารตกค้าง
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อเนื้อหมูจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือมีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาการผลิตได้ โดยเลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่กรมปศุสัตว์ตรวจรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้า หรือ หมูที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด สถานที่จำหน่ายสะอาดถูกสุขลักษณะ มีตู้แช่เย็นที่ควบคุมอุณหภูมิได้ตลอดเวลา เลือกซื้อเนื้อหมูด้วยการสังเกตลักษณะทางกายภาพเนื้อที่ดีต้องมีสีชมพูอมเทา ไขมันสีขาวหรือครีม ผิวหน้าชิ้นเนื้อไม่มีเมือก ไม่มีน้ำซึม กลิ่นเนื้อสดตามธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นผิดปกติ รวมถึงสถานที่จัดจำหน่ายเพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้น./
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น