นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ภายใต้กรอบเอเปค ในระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย สศก. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม พร้อมด้วยสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เข้าร่วมประชุม
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมในแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ภาครัฐ ภาคเอกชน คณะทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยข้อมูลที่ได้รับการประชุมเชิงปฏิบัติการจะนำมาประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (Implementation Plan on The Food Security Roadmap towards 2030)
ซึ่งจะเป็นเอกสารสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้สมาชิกเอเปคมีแผนที่ชัดเจน มีเป้าหมาย และวัดผลได้ และสามารถบรรลุความมั่นคงอาหารและโภชนาการได้ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยกำหนดประเด็นสำคัญ 6 หัวข้อ ได้แก่ (1) เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม (2) ผลิตภาพ (3) ความครอบคลุม (4) ความยั่งยืน (5) ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน และ (6) การกำหนดเป้าหมายที่ชาญฉลาด และการดำเนินการตามแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปค มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 โดยจะมีการรับรองแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ.2030 ในการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ต่อไป
นอกจากนี้ ในการประชุมฯ จะมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 โดยวิทยากรจากองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ FAO OECD และ ABAC รวมถึงการนำเสนอแผนการดำเนินงานจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ได้แก่ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคเกษตร การส่งเสริมการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนใน MSMEs การเสริมสร้างความสามารถและอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ มาตรฐานการค้าสินค้าอาหาร และระบบการขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย การมีส่วนร่วมของเยาวชนในระบบอาหาร การจัดการกับความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร การสร้างขีดความสามารถเพื่อลดการสูญเสียอาหาร และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในภาคอาหาร เป็นต้น
การจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ ปี ค.ศ. 2030 มุ่งหวังในการส่งเสริมระบบอาหารของเอเปคที่เปิดกว้าง ยุติธรรม โปร่งใส มีประสิทธิผล ยั่งยืน และมีความยืดหยุ่น เพื่อให้ประชาชนในเอเปคสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียง มีความปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดีที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้มีชีวิตที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง ซึ่งมีความสอดคล้องกับภารกิจสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลักดันความมั่นคงอาหารและการเกษตร ที่เน้นการขับเคลื่อนนโยบาย 3S ทั้งเรื่อง Safety Security และ Sustainability เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนภาคเกษตร ด้วย BCG Model มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความท้าทายในมิติที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น