นวัตกรรมยุติธรรมท้าทาย"SOP-JUDA"ตรวจสารเสพติดในเส้นผม

 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนา “นวัตกรรมการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน” ภายใต้แผนงานขยายผลการวิจัยสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

 

ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้ เป็นการเสนอแก้ไขกฏหมายและมาตรการพิเศษในการดูแลเด็กและเยาวชน จะมีการจัดทำคู่มือบูรณการร่วมกัน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ มาใช้ลดการแก้ปัญหายาเสพติด ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการใช้หลักสูตรฝึกอบรมอาชีพ ปี 2563 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รายงานสถิติการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนประจำปี พบว่ามีจำนวนถึง 19,470 คดี คดีส่วนใหญ่เป็นฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 9,600 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 49.31 ของคดีทั้งหมด

 

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจขับเคลื่อนนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย ภายใต้แผนงานขยายผลการวิจัยสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งการเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายที่จะเกิดการบูรณาการเครือข่ายผู้บังคับใช้กฎหมายในการอำนวยความยุติธรรมแก่เด็กและเยาวชนโดยมุ่งประโยชน์สูงสุดของตัวเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา

 

ตลอดจนการประยุกต์ใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ให้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม การสร้างความยั่งยืนให้กับกระบวนการคืนเด็กดีสู่สังคมไม่ให้หวนกลับมากระทำผิดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนในสังคมในการให้โอกาสเด็กและเยาวชนเหล่านี้ให้มีพื้นที่จุดยืน มีอาชีพสุจริต หรือมีแนวทางการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพตามครรลองของสังคมปกติ

 

ผลการดำเนินงานได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมแก่เด็กและทั้งในมิติทางกฎหมายที่เกิด SOP ด้านการปฏิบัติต่อเด็กกระทำความผิดซึ่งมีอายุไม่เกิน 12 ปี หรือการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยมาเป็นกลไกสำคัญในการหันเหคดีเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม รวมทั้งด้านนิติวิทยาศาสตร์เกิดโปรแกรม JUDA มีระบบฐานข้อมูลการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนที่แยกออกจากฐานข้อมูลของผู้ใหญ่ เพื่อใช้งานในระดับสถานีตำรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับการพัฒนาเทคนิคการตรวจสารเสพติดทางเส้นผม ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของ 4 หน่วยงานใหญ่ ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

 

 

“การเสวนาครั้งนี้เป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัย และนวัตกรรม โดยมีการเสนอมาตรการพิเศษ รวมทั้งในการนำเสนอการแก้ไขกฏหมายเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน รวมทั้ง จัดทำคู่มือ ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนวัตกรรมพิเศษ ที่จะดูและไม่ให้เด็กและเยาวชน หันกลับ ไปกระทำผิดซ้ำอีก นอกจากนี้ยังมีจะมีการบูรณาการ ในการกำหนดหลักสูตร ที่การฝึกอบรมการสร้างอาชีพเพื่อสร้างหลักความมั่นคง และเป็นการเตรียมพร้อม ก่อนกลับคืนสู่สังคม โดยจะร่วมกับภาคเอกชน และสถานการประกอบการต่าง ๆ เพื่อฝึกอบรม และเตรียมก่อนกลับสู่สังคมหลังพ้นโทษ ด้วย ทำอย่างไรไม่ให้ไป สู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่กลับไปสู่กระบวนการยุติธรรมอีก”ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา กล่าวย้ำ

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. พร้อมผลักดันการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาสังคม เพราะถือเป็นความท้าทาย รวมทั้งการวิจัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ตลอดจนเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและต่อยอด สร้างมาตรการสำหรับการผสมผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน ในการป้องกันเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยกระทำผิดไม่ให้เป็นผู้กระทำผิดรายใหม่ รวมถึงขยายผลนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนสู่การประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และจะเป็นต้นแบบในการขยายผลการใช้นวัตกรรมนี้ในหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป

 

นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพิจารณาคดีเป็นหลักและยังเป็นหน่วยงานที่ดูแลศาลเยาวชนฯทั่วราชอาณาจักร ที่ผ่านมาศาลฯพบข้อมูลว่ามีผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการที่จะมีการตรวจสอบสารเสพติดจากเส้นผมได้ ซึ่งมีความแม่นยำสูง ของหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

  

 

จึงขอเข้ามามีส่วนร่วมกันในการทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจสารเสพติดจากเส้นผม กรณีที่ขึ้นสู่คดีในชั้นศาล โดยจะมีการตรวจสอบทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะคดียาเสพติเพียงอย่างเดียว เพราะผู้ต้องหาบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นคดีหลักทรัพย์ พบว่ามีสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ยาเสพติดเป็นรากฐานที่ทำให้เด็กก่อคดี ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

หากมีการตรวจยาเสพติดโดยนวัตรกรรมสามารถตรวจสอบสารตกค้างได้ย้อนหลังกว่า 3 เดือน จะทำให้ระงับยับยั้งการเสพยาเสพติดในเด็กได้อย่างต่อเนื่อง เพราะหลักฐานจะปรากฏชัดเจน มีผลในการพิจรณาคดีทันที เดิมเด็กจะเสพยาต่อเนื่องเพราะคิดว่าตรวจไม่เจอ

 

ทั้งนี้สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด แม้แต่กระท่อม และกัญชา ในอนาคตคาดว่า จะมีการตรวจย้อนหลังสารเสพติดได้กว่า 6 เดือนทำให้เด็กลดการใช้ยาเสพติด นอกจากนี้จะมีการขยายการตรวจสอบสารเสพติดในเส้นผมในศาลพื้นที่รอบกรุงเทพ และพื้นที่ที่คาดว่า มีผู้ต้องหาคดียาเสพติด โดยในงบประมาณหน้า จะเสนอให้มีการตรวจสอบยาเสพติดในเส้นผมในศาลทั่วประเทศ

ความคิดเห็น