"สศก."ถกBIMSTECส่งเสริมความร่วมมือเกษตร-โลจิสติกส์ภูมิภาค

นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ สศก. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการร่วมด้านการส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร (Encouraging Private Sector Participation especially in Value-Chain Management for Agricultural Products) ภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล 


สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) เรื่อง การบริหารจัดการในการขนส่งสินค้าเกษตรแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Management for Agricultural Products) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 16-17 มิถุนายน 2565 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ (นางเบญจวรรณ ศิริโพธิ์) ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ และมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย รวมถึงสำนักเลขาธิการ BIMSTEC  หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภายนอก เข้าร่วมการประชุม



การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงเกษตรกร ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้บทบาทของการขนส่งสินค้าเกษตรแบบควบคุมอุณหภูมิมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการนำสินค้าที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภค ให้ยังคงรักษาสภาพทางกายภาพและทางเคมีของสินค้า คุณภาพ คงความสดใหม่ ตลอดจนปราศจากเชื้อโรคปนเปื้อนตลอดโซ่อุปทาน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งกระบวนการ ลดต้นทุน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 


รวมถึงจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม  รวมทั้งได้มีการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรจากภาคเอกชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรในภูมิภาค BIMSTEC และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าเกษตรแบบควบคุมอุณหภูมิ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานและการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับ Cold Chain นอกจากนี้ ได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศสมาชิก ในประเด็นด้านสถานการณ์ ปัญหาและความท้าทาย รวมถึงการจัดการห่วงโซ่ความเย็นในอนาคต


สศก. ได้นำเสนอการดำเนินงานของไทย เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาโลจิสติกส์และการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นสำหรับสินค้าเกษตรของไทย ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนรายสาขา วิสัยทัศน์ และประเด็นการพัฒนา พร้อมทั้งยกตัวอย่างเกี่ยวกับการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นของสินค้าทุเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยแผนปฏิบัติการฯ มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ โลจิสติกส์ในภาคการเกษตร และใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรของไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม


“การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เป็นการเน้นย้ำความตั้งใจ และความพยายามของไทยที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านการเกษตรกับนานาชาติในกรอบพหุภาคีอย่างเข้มแข็ง ซึ่งประเทศสมาชิกสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง เป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรในภูมิภาคต่อไป” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว






ความคิดเห็น