รับมือ"โนรู"กอนช."ระดมเครื่องจักรเครื่องมือ เตรียมระบบสื่อสาร อพยพช่วยเหลือประชาชนจ่อเข้าอีสาน 29 ก.ย.นี้ คาดกระทบ 38 จังหวัด
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์พายุ “โนรู” ร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เป็นผู้รายงานสถานการณ์และการเตรียมการรับมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคกลาง โดยนายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคกลาง เป็นผู้รายงานสถานการณ์และการเตรียมการรับมือ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. ถนนวิภาวดีรังสิต
ดร.สุรสีห์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “โนรู” อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามที่เมืองฮานอยในวันนี้เวลา 04.00 น. และเคลื่อนผ่านประเทศลาวตอนล่างก่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทยบริเวณ จ.อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ย. 65 )หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ คาดว่าจะมีผลกระทบในพื้นที่ต่าง ๆ 38 จังหวัด บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก
กอนช.ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้นฤดูตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนไว้ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพื่อให้ข้อมูลหน่วยงานได้เตรียมการในระดับพื้นที่ โดยขณะนี้ได้มีการเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่พร้อมรับสถานการณ์พายุ “โนรู” ซึ่งถือเป็นพายุลูกแรกที่เข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้ ตามข้อสั่งการ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอนช.
อาทิ การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง รวมถึงขนาดเล็กในจุดเสี่ยงต่างๆ การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ รวมถึงการให้ข้อมูลจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบเพื่อประสานงาน อำนวยความสะดวกจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ที่สำคัญ คือ การแจ้งเตือนประชาชนให้เข้าถึงทุกพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง การระดมสรรพกำลังทหาร พลเรือน เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสาร การอพยพช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด และกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด
การรับมือพายุโนรูขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมการรับมือล่วงหน้าให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มเติมแม้จะเป็นข้อจำกัดค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนที่ตกมากระจายตัวในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคกลาง เพื่อบูรณการบริหารจัดการน้ำการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝน
โดยมีการเตรียมการพร่องน้ำเป็นการล่วงหน้าเพื่อรองรับน้ำ เช่น เขื่อนป่าสักฯ มีที่ว่างรับน้ำได้ประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบรัตน์รับน้ำได้อีก 360 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาทำให้มีช่องว่างในการรับน้ำได้มากขึ้น การเตรียมการรับน้ำเข้าทุ่งต่าง ๆ ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ในกรณีที่มีปริมาณน้ำมาก และมีการประสานแจ้งประชาสัมพันธ์การระบายน้ำและการเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์น้ำภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุ “โนรู”เข้าฝั่งไทย ลุ่มน้ำมูลล่าสุด พว่า มีน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ได้แก่ อ.พิมาย อ.จักราช จ.นครราชสีมา อ.จอมพระ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อ.ห้วยทับทัน อ.เมือง ศรีสะเกษ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี และทุกสถานีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ลุ่มน้ำชีปริมาณน้ำล้นตลิ่งเกือบตลอดแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น อ.เมืองโกสุมพิสัย อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด อ.บ้านใหม่ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ส่วนสถานการณ์น้ำภาคกลางล่าสุดในลุ่มน้ำป่าสักมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ต้นน้ำป่าสักบริเวณ อ.หล่มสัก
จ.เพชรบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และท้ายน้ำมีปริมาณน้ำเกินความจุลำน้ำอยู่เล็กน้อยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำบริเวณคลองโผงเผงแม่น้ำน้อยแม่น้ำเจ้าพระยาแนวโน้มระดับน้ำยังทรงตัว อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาหากมีการเพิ่มขึ้น กอนช.ได้เน้นย้ำกรมชลประทานให้มีการแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำล่วงหน้า รวมถึงระดับน้ำที่คาดว่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้ประชาชนยกของขึ้นที่สูงหรือเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน หรืออพยพไปยังจุดที่ปลอดภัยได้ล่วงหน้า
ขอเน้นย้ำในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่หลายฝ่ายมีข้อห่วงกังวลว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ปี 2554 นั้น แม้ว่าอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ แต่จะไม่เหมือนกับปี 2554 ที่ปัญหาน้ำท่วมเกิดจากพายุเข้าประเทศไทยถึง 5 ลูก และมีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มากถึง 3,935 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) และระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาถึง 3,709 ลบ.ม./วินาที (อัตราการะบายสูงสุด 2,840 ลบ.ม./วินาที)
ปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,100 ลบ.ม./วินาที และสถานีวัดน้ำ C.29A ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,738 ลบ.ม./วินาที จากความจุ 3,500 ลบ.ม./วินาที ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะมีน้ำเหนือหลากเข้า กทม.และปริมณฑล เหมือนปี 2554 ส่วนแนวโน้มในระยะใกล้นี้ยังไม่มีสัญญาณพายุเข้าประเทศไทย แต่ กอนช.จะเฝ้าติดตามสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนได้ทันที แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ถึงสถานการณ์น้ำในปีนี้เนื่องจากปีนี้ต้องยอมรับว่าปีนี้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติ โดยในเดือน ต.ค.จะปริมาณฝนมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากนั้นช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย.ปริมาณฝนจะตกมากในพื้นที่ภาคใต้ตามลำดับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น