ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้งานในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้โดรนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ และสามารถรองรับการใช้งานในภารกิจที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น วช.จึงได้ให้การสนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ในการจัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาปรับใช้กับการทำงานในงานด้านต่าง ๆ โดยการอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 และเป็นครั้งสุดท้ายของภาคกลาง ซึ่งจะก่อให้เกิดพัฒนาด้านการศึกษาให้เกิดการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ สร้างนวัตกรในประเทศ ให้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รองรับการขยายตัวของเทคโนโลยี ด้านการบินในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
“วช. ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนสมาคมฯ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานต่อไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อในพื้นที่ภาคเหนือ” ดร.วิภารัตน์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง โดยการอบรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 และครั้งสุดท้ายของภาคกลาง ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดราชบุรี ในการจัดอบรมระหว่างวันที่ 3 – 5 กันยายน 2565
ภายในงาน มีนายอุเทน จันทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อมัลติมีเดียจากโดรน จากโอเคไอสตูดิโอ สิบโทณรงค์ศักดิ์ วุฒิสะศรี เจ้าหน้าที่บินโดรนถ่ายภาพมุมสูงถวายความปลอดภัยและเทคโนโลยี และ ด.ช.ศุภกร สุนทรธรรมรัต นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนสาธิตนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การนำโดรนไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมการอบรมเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จนประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร กล่าวได้ว่าเป็น“โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย เป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวในอาเซียน และ 1 ใน 9 ของโลก ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และแพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ มีการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี
ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน (Drone) ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคกลาง โดยจัดการอบรมจำนวน 4 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 1จัดที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 จัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 3 จัดที่จังหวัดเพชรบุรี และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 จัดที่จังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 3 – 5 กันยายน 2565 ถือเป็นการจัดอบรมครั้งสุดท้ายของพื้นที่ภาคกลาง โดยจัดอบรมครั้งละ 50 คน รวมจำนวนผู้เข้าอบรมรวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน เป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกทักษะ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร”
หลังจากสิ้นสุดการอบรมฯ ในพื้นที่ภาคกลางครั้งนี้แล้ว สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. จะทำการเปิด “การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานต่อไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งการอบรมฯ ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ โดยนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมการอบรมฯ ได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น