ธ.ก.ส.จัดประกวดชุมชนอุดมสุขยั่งยืนระดับประเทศ ประจำปี 2565 สร้างแรงบันดาลใจยกระดับด้านเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม-วัฒนธรรมประเพณี ลุ้นรางวัล 100,000 บาท
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง กรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และประธานอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการจัดประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ยอดเยี่ยม ประจำปีบัญชี 2565 โดยมีนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คณะผู้บริหารและพนักงานเข้าร่วมกิจกรรม ผ่านระบบ VDO Conference
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านการพัฒนาชุมชน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับสู่การเป็นชุมชนอุดมสุขอย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ทั้งด้านการส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การมีส่วนร่วมและการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถจัดทำแผนงานโครงการหรือแผนธุรกิจชุมชนและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สาธารณชน ธ.ก.ส. จึงจัด “โครงการประกวดชุมชนอุดมสุขยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ปี 2565” เป็นปีที่ 2 โดยคัดเลือกชุมชนอุดมสุข ธ.ก.ส. จากทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น ๆ ในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
สำหรับคุณสมบัติของชุมชนที่เข้าประกวด ต้องเป็นชุมชนอุดมสุขที่มีผลประเมินอยู่ในระดับ A มีกิจกรรมขับเคลื่อนตามหลัก BCG Model นำทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต และมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งการตัดสินในระดับประเทศจะใช้เกณฑ์ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์ การตลาด การพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ ด้านสังคมวัฒนธรรมประเพณีด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ เชื่อมโยง BCG และทายาทสืบทอด
ทั้งนี้ ในการจัดประกวด แต่ละจังหวัดจะคัดเลือกชุมชนอุดมสุขดีเด่น อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ชุมชน เพื่อนำมาประกวดในระดับภูมิภาค รวม 9 ภาค โดยคัดเลือกชุมชนดีเด่นภาคละ 3 ชุมชน รวม 27 ชุมชน แล้วนำชุมชนที่ชนะเลิศทั้ง 9 ภาค รวม 9 ชุมชน มาคัดเลือกชุมชนอุดมสุขยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศในรูปแบบ New Normal โดยให้ชุมชนส่งรายละเอียดข้อมูลในการนำเสนอให้คณะกรรมการตัดสินการประกวดชุมชนอุดมสุขพิจารณาตามหลักเกณฑ์การประกวดชุมชนอุดมสุข และนัดหมายผู้นำชุมชนนำเสนอและตอบข้อซักถามผ่าน ระบบ Google Meet Conference ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565
ในส่วนของชุมชนที่ชนะการประกวดในระดับประเทศ รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 70,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 50,000 บาท ส่วนรางวัลระดับภูมิภาค รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศในทุกรางวัล รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1,120,000 บาท
นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขามาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน ได้แก่ นางสาวลดาวัลย์ คำภา อนุกรรมการเศรษฐกิจฐานราก ธ.ก.ส. ผู้แทนสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ผู้แทนวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน ทั้งนี้ สามารถติดตามการประกาศผลชุมชนที่ได้รับรางวัลในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ผ่านทางเว็บไซต์ www.baac.or.th และ Facebook ฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน (ฝลช.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น