"วช.-รร.นรต."เปิดผลวิจัยส่งเสริมอาชีพ“เด็ก-เยาวชน”กระทำผิดกลับตัวเป็นคนดี

วช.-รร.นรต. เปิดผลการวิจัยการประเมิน “เด็ก-เยาวชน” กระทำความผิด ด้านการส่งเสริมอาชีพ พร้อมข้อเสนอ 3 มิติ เชื่อมั่นผลการประเมินการันตีเด็กและเยาวชน กลับตัวเป็นคนดี พร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก


โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) จัดประชุมเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่อง “การประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือด้านการส่งเสริมอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายภาคเอกชน” โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลสำเร็จของความร่วมมือด้านการส่งเสริมอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและสร้างพลังใจเชิงบวกผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ และส่งเสริมการกล้าแสดงจุดยืนในสังคม ตลอดจนถอดบทเรียนชีวิตเด็กและเยาวชนผู้เคยกระทำความผิดที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ


พันตำรวจตรี ดร.ปริญญา สีลานันท์ อาจารย์ (สบ2) คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากความร่วมมือของ รร.นรต.และ วช. มีเป้าหมายที่จะมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด ซึ่งรายงานสถิติคดี ประจำปี 2563 – 2565 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด ในระยะเวลา 3 ปี มีจำนวนสูงถึง 46,255 คดี โดยกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนดังกล่าวถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากในขณะนี้ ดังนั้น กระบวนการฟื้นฟูพฤตินิสัยและการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนโอกาสและการชี้นำแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้เป็นกำลังสำคัญที่มีคุณค่า ต่อสังคมในอนาคต 




ความสำเร็จในการดำเนินโครงการมากว่า 2 ปี มีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและสถานประกอบการ จำนวน 32 แห่งทั่วประเทศ ที่รับเด็กและเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ จำนวนกว่า 150 คน เข้าฝึกงานและบรรจุเป็นพนักงานประจำ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในความสำเร็จของการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาดในชีวิตให้กลับตัวเป็นคนใหม่ ซึ่งสะท้อนได้จากการมีวิสัยทัศน์และนโยบายในการรับเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 รุ่น สอดคล้องกับการประเมินความสำเร็จในเชิงปริมาณที่พบว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก (= 3.82, SD = 0.513) 



"ในขณะที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ก็มีความพึงพอใจต่อการมอบโอกาสทางอาชีพของหน่วยงานต่างๆ ในระดับมาก (= 4.18, SD = 0.539) เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผลการประเมินดังกล่าวจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า โครงการวิจัยฯ ที่ได้ดำเนินการมาสามารถสร้างความตระหนักในคุณค่าชีวิตของเด็กและเยาวชน เกิดความมุ่งมั่นในการกลับตัวเป็นคนดี มีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก” พันตำรวจตรี ดร.ปริญญา กล่าว


พันตำรวจตรี ดร.ปริญญา กล่าวต่อไปว่า โครงการฯ ได้สรุปผลการวิจัยและการเมินโดยมีข้อเสนอแนะจากการดำเนินโครงการวิจัยใน 3 มิติ ได้แก่ 1)ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในเชิงนโยบายของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์  เชิงรุกผ่านสื่อทุกรูปแบบเกี่ยวกับการส่งเสริมโอกาสทางอาชีพแก่เด็กและเยาวชน เพื่อสร้างการรับรู้และเปิดมุมมองด้านภาพลักษณ์เชิงบวกในการส่งเสริมโอกาสทางอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดให้สังคมได้รับทราบ การบูรณาการร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการศึกษาสถิติแนวโน้มความต้องการทางอาชีพและตลาดแรงงาน เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและสายงานอาชีพที่ขาดแคลน ตลอดจนการบูรณาการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การแก้ไขปัญหา และการปลดล็อกข้อจำกัดในการประกอบอาชีพด้านต่างๆ





2) ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ การจัดทำทะเบียนหน่วยงานเครือข่ายการส่งเสริมอาชีพ  ทั่วประเทศ โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูลออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ซึ่งสามารถขยายผลเครือข่ายโดยใช้กลไกการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจฯ ในการประชาสัมพันธ์  เชิญชวนให้หน่วยงานหรือสถานประกอบการในพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมทักษะและสร้างโอกาสทางอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่ผ่านกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยแล้ว รวมไปถึงการพัฒนาระบบการติดต่อประสานงานระหว่างเครือข่ายสถานประกอบการให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น 


3)ข้อเสนอแนะในการต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนของงานวิจัย ควรศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์รวมผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Hub of Social Entrepreneur) ด้านการให้โอกาสและการส่งเสริมอาชีพแก่เด็กและเยาวชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษา ให้การช่วยเหลือ หรือมอบโอกาสทางอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยจนพร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital platform) เป็นสื่อกลาง 


รวมถึงการจัดตั้งศูนย์รวมต้นแบบเยาวชนคนกล้าเปลี่ยน (Hub of Change Maker) เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้คำปรึกษาและจุดประกายความคิดให้เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิด มีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพด้วยพลังกายและพลังใจที่เข้มแข็ง และประเด็นหนึ่ง    ที่สำคัญคือการศึกษาแนวทางการผลักดันมาตรการให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่นำข้อมูลการกระทำความผิดในขณะที่เป็นเด็กและเยาวชนมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเข้ารับราชการหรือเข้าทำงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงโอกาสทางอาชีพ อันจะเป็นมาตรการเสริมเชิงบวกในการสร้างความเท่าเทียมทางสังคมและลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างยั่งยืน





ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวว่า ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพลังเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น การขยายผลเพื่อต่อยอดการดำเนินงานให้เกิดผลกระทบ (Impact) ที่ยั่งยืน จำเป็นต้องเน้นการสื่อสารภาพลักษณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการส่งเสริมโอกาส  ทางอาชีพแบบเชิงรุก พร้อมกับการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอาชีพ  ให้มากขึ้น รวมถึงการผลักดันมาตรการให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่นำข้อมูลการกระทำความผิดในขณะที่เป็นเด็กและเยาวชนมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเข้ารับราชการหรือเข้าทำงาน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงโอกาสทางอาชีพและลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างยั่งยืน


ในการจัดประชุมเผยแพร่ผลการวิจัยได้มีการเปิดการเสวนาในหัวข้อ “Move on จากความผิดพลาด สร้างพลังใจเชิงบวก สร้างโอกาสสู่อนาคต”โดยร้อยตรีจิรัฎฐ์ ชยบัณฑิต นายทหารปฏิบัติการจิตวิทยา กล่าวตอนหนึ่งในช่วงของการเสวนาว่า จุดเปลี่ยนที่จะทำให้เด็กและเยาวชนไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำและสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ คือพลังแห่งความศรัทธาในคุณค่าของตนเอง และโอกาสในการพิสูจน์ให้สังคมได้เห็น





“ทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตถ้าเด็กคนนั้นกลับตัวไม่ได้ เขาจะมาทำความเดือนร้อนให้เราหรือคนที่เรารักหรือเปล่า แต่ถ้าเรายอมรับและให้โอกาส นั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเลยก็ได้” นางสาวพิชญ์สินี พรหมยานนท์ เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์อาวุโส บริษัท อูซูอิ อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าว


นายมงคล งามเจริญวงษ์ หัวหน้างานเครือข่ายจัดการน้ำชุมชน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การมอบโอกาสทางอาชีพแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ต้องเริ่มต้นจากหน่วยงานภาครัฐก่อน เพื่อนำร่องให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เห็นเป็นตัวอย่าง และทลายกำแพงของการตีตรา 





ขณะที่ นายธิติบดี รัมเนตร นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ศูนย์ฝึกฯ บ้านมุทิตา กล่าวว่า “อยากจะขอเชิญชวนให้สังคมมาร่วมเปิดพื้นที่แห่งโอกาส เพราะลำพังบทบาทของศูนย์ฝึกฯ คงไม่อาจส่งน้องๆ ให้ถึงฝั่งได้ แต่พลังของสังคมจะช่วยหล่อหลอมและพัฒนาเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ให้เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไปได้”


นายชลชาติ พานทอง เยาวชนต้นแบบที่ในอดีตเคยผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างถาโถม ได้สะท้อนมุมมองว่า “แม้แต่ละคนจะมีต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน จนบางครั้งเส้นทางชีวิตที่เลือกก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะยอมแพ้และกลับไปกระทำผิดอีก ถ้าเรากล้าที่จะเปลี่ยน สังคมหรือคนที่เรารักก็พร้อมจะอ้าแขนรับเราเสมอ”











ความคิดเห็น