สทนช.จับมือออสเตรเลีย แลกเปลี่ยนแนวทางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำพร้อมวางเป้าหมายการใช้น้ำอย่างสันติร่วมกันอย่างยั่งยืน
สทนช. ร่วมกับออสเตรเลีย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำ เพื่อใช้เป็นแนวทางรับมือข้อพิพาทอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต และมุ่งลดปัญหาความขัดแย้งการใช้น้ำ สู่ “น้ำเพื่อสันติภาพ” ตามนโยบายองค์การสหประชาชาติ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการ Capacity Building on Dispute Management for Thailand’s River Basin Committees ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ระหว่าง สทนช. และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย โดยมี นายจอร์น ฟราน-ซิส (Mr.John Francis) Development Counsellor ประจำสถานทูตออสเตรเลีย ประเทศไทย
พร้อมด้วยผู้แทนภาคีเครือข่ายที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของประเทศไทย ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำ จาก 3 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมกรุงเทพ 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญในปัจจุบัน ส่งผลให้ปัญหาด้านน้ำต่าง ๆ อาทิ ภัยแล้ง อุทกภัย ตลอดจนปัญหาด้านคุณภาพน้ำ มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและก่อให้เกิดความขัดแย้งในการใช้และบริหารจัดการน้ำได้ในอนาคต เช่น ความขัดแย้งในการใช้น้ำในฤดูแล้ง ความขัดแย้งในการจัดการพื้นที่น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เป็นต้น
ดังนั้น การเสนอมาตรการป้องกันการขัดแย้งและการจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จึงเป็นพันธกิจที่ สทนช. ให้ความสำคัญ และเร่งผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมกันนี้ สทนช. ได้มีการดำเนินโครงการ Capacity Building on Dispute Management for Thailand’s River Basin Committees ภายใต้ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กับกระทรวงการต่างประเทศและการค้า ออสเตรเลีย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการดำเนินการจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการศึกษาการเกิดข้อพิพาทของประเทศ ในพื้นที่นำร่อง 3 ลุ่มน้ำ 3 ประเด็นข้อพิพาท ประกอบด้วย การขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก การเกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และปัญหาด้านคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายในลุ่มน้ำ สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ “คู่มือแนวทางการจัดการเพื่อบรรเทาข้อพิพาทของประเทศไทย (Guidance for Thailand's Dispute Mitigation)” เพื่อเป็นแนวทางการจัดการไกล่เกลี่ยให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมกับลุ่มน้ำ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำและผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละลุ่มน้ำต่อไป
“ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แนวทางการจัดการข้อพิพาทจากความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำเป็นประเด็นที่ สทนช. ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ที่ปัญหาด้านน้ำมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารจัดการน้ำ โดยในวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องจากทั้ง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตาม สทนช. คำนึงอยู่เสมอว่าวิธีการจัดการข้อพิพาทที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาท โดย สทนช. ได้มุ่งมั่นบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำในทุกพื้นที่ เร่งสร้างความมั่นคงน้ำของประเทศในทุกมิติ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งในการใช้น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย “Leveraging Water for Peace” หรือ “น้ำเพื่อสันติภาพ” ขององค์การสหประชาชาติในวันน้ำโลกปีนี้ เพื่อการใช้น้ำอย่างสันติร่วมกันอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น