สทนช.ขานรับนโยบาบ'ภูมิธรรม”บูรณาการข้อมูลสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า วางแผนรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังควบคุมปริมาณน้ำ 4 จุดเสี่ยง พอใจผลซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ มั่นใจลดผลกระทบพื้นที่การเกษตร นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่เศรษฐกิจ และปกป้องโบราณสถานมรดกโลก
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทนช. ได้บูรณาการติดตามสถานการณ์น้ำฝนและน้ำท่า ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ปริมาณฝนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2567 จะมีร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 20 และเมื่อรวมกับปริมาณฝนที่ตกสะสมมาตั้งแต่ต้นฤดู จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำต่างๆ ยกระดับสูงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะน้ำหลากในช่วงเดือนสิงหาคมและมีความเสี่ยงน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลาก บวกกับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูง จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดสถานการณ์อุทกภัยได้
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบนโยบายให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในโอกาสเป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ในการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบในทุกมิติ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ในครั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยตนเองตลอดกิจกรรม โดย สทนช.ได้จำลองเหตุการณ์กรณีมีพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยและเกิดร่องมรสุมพาดผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนเกิดฝนตกหนักและมีน้ำหลาก ไหลมาจากตอนบนของลุ่มน้ำ อันอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัย โบราณสถาน พื้นที่มรดกโลก พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่การเกษตรนับล้านไร่ รวมทั้งสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำอย่างถูกต้องผ่านเครือข่ายผู้ใช้น้ำ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในเชิงป้องกันรับมือสถานการณ์อุทกภัย ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ ทั้งนี้ ผลการซักซ้อมประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเช่นนี้ จะช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ ลดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งจะช่วยป้องกันพื้นที่โบราณสถานมรดกโลกที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันประเมินค่ามิได้ ให้รอดพ้นภัยอันเกิดจากน้ำได้อย่างแน่นอน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สทนช.ได้ดำเนินการเร่งประสานหน่วยงานด้านน้ำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หน่วยงานจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นต้น ในการกำหนดเกณฑ์บริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยอันเกิดจากน้ำ โดยมีจุดเฝ้าระวัง 4 จุด แบ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน 2 จุด คือ จุดที่ 1 ลุ่มน้ำยม จะควบคุมปริมาณในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านสถานีตรวจวัดน้ำ Y4 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ไม่ให้เกิน 460 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที
ทั้งนี้หากเกินจะผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. จุดที่ 2 จังหวัดนครสวรรค์ จะควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน โดยจะให้ไหลผ่าน ณ สถานีตรวจวัดน้ำ C2 ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที หากเกินจะผันน้ำเข้าพื้นที่หน่วงน้ำเหนือจังหวัดนครสรรค์ได้ประมาณ 999 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดได้อีกประมาณ 235 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีจุดเฝ้าระวัง 2 จุด คือ จุดที่ 3 เขื่อนเจ้าพระยา จะควบคุมน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาร่วมกับการบริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยจะให้ไหลผ่าน ณ สถานีตรวจวัดน้ำ C13 ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที หากเกินจะผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งตะวันออก จำนวน 5 ทุ่ง รับน้ำได้ประมาณ 437 ล้าน ลบ.ม. และจุดที่ 4 อำเภอบางไทร จะควบคุมน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยจะควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ณ สถานีตรวจวัดน้ำ C29A ไม่เกิน 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที หากเกินจะผันน้ำเข้าพื้นที่รับน้ำฝั่งตะวันตก จำนวน 5 ทุ่ง รับน้ำได้ประมาณ 872 ล้าน ลบ.ม. พร้อมใช้ระบบสูบน้ำควบคุมไม่ให้กระทบพื้นที่อยู่อาศัยและบ้านเรือนของประชาชน
"แนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัยในปีนี้ นอกจากจะบริหารจัดการน้ำแบบรายกลุ่มลุ่มน้ำแล้ว จะต้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องทุกลุ่มน้ำทั้งระบบด้วย โดย สทนช.และหน่วยงานต่างๆ จะประชุมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งนี้ สทนช. จะติดตามประเมินผลและรายงานให้รัฐบาลรับทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป"เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น